วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

สรุป บทความ 

เรื่อง เลขคณิตคิดสนุก แนะนำพ่อแม่สอนลูกๆจากกิจกรรมในบ้าน
จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยอาจารย์สุรัชน์ อินทสังข์ จากภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
        อ.สุรัชน์ กล่าวว่า เด็กไทยคิดคำนวณเลขเก่ง แต่ถ้ายังขาดการให้เหตุผล ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กฝึกคิดหาเหตุผลได้ โดยการชวนลูกคุย และหมั่นตั้งคำถาม ให้เด็กได้ฝึกคิด ส่วนคำตอบจะผิดหรือถูกยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ คณิตศาสตร์ซ่อนอยู่ในหลายๆ ที่ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น หนังสือพิมพ์ ในห้องครัว ในสวน สนามเด็กเล่น เป็นต้น เมื่อผู้ปกครองพบเห็นอะไร ก็สามารถเก็บประเด็นแล้วนำมาพูดคุยกับลูกหลานได้ หรือหากิจกรรมสนุกมาทำร่วมกันในครอบครัวและให้เด็กมีส่วนร่วมด้วย เช่น เล่นเกมทางคณิตศาสตร์ เข้าครัวทำอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างกิจกรรม เช่น
ให้พ่อแแม่และเด็กทำเยลลีด้วยกัน เด็กก็จะได้เรียนรู้เรื่องทักษะการชั่ง การตวง การวัด  หรือชักชวนลูกไปจ่ายตลาดด้วยกัน เด็กๆ ก็จะได้ฝึกวางแผนว่าจะต้องซื้ออะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ และปริมาณเท่านี้คิดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ เป็นการให้เด็กได้ฝึกคำนวณเลข เมื่อเด็กเล่นอยู่ในสวนที่มีดอกไม้ ก็อาจเรียนรู้คณิตศาสตร์จากการนับกลีบดอกไม้แต่ละชนิด เช่น ดอกเข็มที่ส่วนใหญ่มี 4 กลีบ แต่จะมีบางดอกที่มี 5 กลีบ หรือ 6 กลีบ ก็หยิบยกเอามาคิดเรื่องสถิติก็ได้ว่าจะมีโอกาสพบดอก 5-6 กลีบ ได้อย่างไรบ้าง อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การประดิษฐ์กล่องของขวัญ การทำกล่องก็จะต้องมีการวัดสัดส่วน วัดมุม เพื่อให้ได้ขนาดกล่องตามที่ต้องการ   นอกจากนี้ อ.สุรัชน์ ยังได้แนะนำเกมสนุกๆ ที่พ่อแม่สามารถนำไปเล่นกับเด็ก เพื่อช่วยฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ของลูกเพิ่มเติมจากที่โรงเรียนได้ไม่ยาก เช่น เกมทายตัวเลข เกมนับตัวเลข เกมโยนเหรียญ เกมทอยลูกเต๋า  การเล่นเกมจะทำให้เด็กชอบได้ง่าย เพราะมีการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวด้วย การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันที่บ้าน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ
สรุป 
  "การส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กจากที่บ้าน ยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ด้วย ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และนำมาเล่นสนุกกันได้ ไม่ใช่เรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้เด็กสนใจและรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น"






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น